COLUMNIST

รอบรู้พลังงานไทยใน 10 นาที
POSTED ON -


 

ภารกิจ คสช. ในการคืนความสุขให้คนไทยทั้งประเทศ ซึ่งขอเวลาอีกไม่นาน ทำท่าจะต้องใช้เวลาเพิ่มขึ้นกว่าที่ประเมินเอาไว้ เมื่อปัญหาของพลังงานกลายเป็นประเด็นใหญ่ระดับประเทศ และหากปล่อยไว้อาจจะบานปลายกลายเป็นประเด็นทางการเมือง ซึ่งการแก้ไขปัญหาด้านความขัดแย้งอย่างเดียวก็หนักหนาสาหัสอยู่แล้ว จะขอยกคำพังเพยโบราณมาเปรียบเปรยสถานการณ์ คสช. ว่า "ความวัวไม่ทันหาย ความควายเข้ามาแทรก" คงจะไม่ผิด... สำหรับท่านที่ใส่ใจพลังงานโดยรวม แต่ไม่สะดวกในการค้นหาจากเว็บไซต์หรือหาอ่านจากหนังสือหลายๆ เล่ม บทความนี้จะช่วยท่านให้สามารถเข้าถึงพลังงานและพลังงานทดแทนทันเพื่อนๆ ได้ระดับหนึ่ง

 

1. สัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 : มั่นใจว่าถ้าท่านอ่านถึงบรรทัดนี้เแล้วต้องมีความเข้าใจเรื่องสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ไม่มากก็น้อย และนี่คือ "เผือกร้อน" ของ คสช. แนวคิดแตกออกเป็น 2 ขั้วอย่างชัดเจน นั่นคือ ภาครัฐคิดว่าการสัมปทานน่าจะดีกว่า แต่กลุ่มที่เห็นต่างซึ่งมีตั้งแต่คนเดินดิน นักวิชาการ และนักเคลื่อนไหว ต่างก็คิดว่าการแบ่งปันผลประโยชน์น่าจะดีกว่า ศึกครั้งนี้เกมหนักตกไปที่กลุ่มผู้เป็นกลางที่พยายามจะรักษาภาพลักษณ์ต่างแทงกั๊กกันหมด สื่อมวลชนจึงงงๆ กันไปทั้งประเทศ หาข่าวทำไม่ได้จนบัดนี้

 

การผลักดันจากภาครัฐให้ใช้วิธีการสัมปทานตั้งเค้ามานานแล้ว จะเป็นด้วยนโยบายจากผู้มีอำนาจหรือด้วยเหตุผลและประสบการณ์อันยาวนานก็ยากที่จะหยั่งถึง สำหรับผู้เขียนแล้วขอยืมคำพูดท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานที่เคยให้สัมภาษณ์ว่า "จะแบบไหนก็ตาม คนไทยควรมีปิโตรเลียมใช้ในราคาที่ต่ำกว่าตลาดโลก เนื่องจากปิโตรเลียมของบ้านเราเอง" จะเหมาว่าแทงกั๊กด้วยก็ไม่ว่ากัน ก็เนื่องจากไม่มีใครรู้ว่าระบบไหนเหมาะกับสภาพปิโตรเลียมเมืองไทยจริงๆ เป็นการประเมินจากข้อมูลเดิมและความรู้สึก

 

2. ไฟฟ้า : มีหลายเรื่องชวนให้มีการเคลื่อนไหวเพื่อให้มีการรวม 3 การไฟฟ้าฯให้อยู่ในกระทรวงเดียวกัน จะได้ไม่ขัดแย้งกันเอง ตั้งแต่การรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน เริ่มจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) รับซื้อ การไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) ปฏิเสธ โดยให้เหตุผลว่า "ไฟฟ้าย้อนกลับ" ธุรกิจใครต่อใครได้ผลกระทบกันถ้วนหน้าก็ไม่ใส่ใจ ดังนั้น ในร่างพระราชบัญญัติพลังงานทดแทนที่จะเข้าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในเร็ววันนี้จึงได้กำหนดไว้อย่างชัดเจนว่า 3 การไฟฟ้าฯต้องรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเป็นอันดับแรก ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะแก้ไขปัญหาได้หรือไม่?

 

นอกจากนี้ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ยังออกมาเบรกการสร้างโรงไฟฟ้าให้ชะลอไปก่อน เนื่องจากการสำรองไฟฟ้าตามมาตรฐาน 15% ได้เกินเลยไปถึง 40% จึงส่งผลให้ค่าเอฟทีสูงจนผู้ใช้ไฟฟ้าต้องเดือดร้อน

 

สำหรับภาคใต้เป็นกรณีพิเศษจำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินถึง 2 โรง และจำเป็นต้องเดินหน้าต่อไป เนื่องจากภาคใต้มีปริมาณไฟฟ้าสำรองน้อยกว่าภาคอื่นๆ และอีกเรื่องหนึ่งก็ไม่ทราบว่าเป็นข่าวดีหรือข่าวร้ายที่รัฐบาลทุ่มงบประมาณจากภาษีของพวกเราอย่างมหาศาลในการเพิ่มโครงข่ายเพื่อให้มีสายส่งเพียงพอกับการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ส่วนเรื่องของสมาร์ทกริด (Smart Grid) รู้สึกเงียบไป ยังไม่มีใครออกมาสร้างข่าวเพื่อของบประมาณแผ่นดิน

 

3. น้ำมันเชื้อเพลิง : กูรูทั้งหลายคาดการณ์ว่าในครึ่งปีแรกของปี 2558 น่าจะยังคงต่ำอยู่ ราคาน้ำมันทั่วโลกไม่แตกต่างกันมากนัก อยู่ที่อัตราบวกเพิ่มเพื่อนำส่วนเกินไปบริหารจัดการเองในแต่ละประเทศ ถ้าคิดแบบอยู่กับอนาคตก็ไม่ควรลดราคาน้ำมัน แม้ว่าราคาตลาดโลกจะลดลง เช่น ในยุโรป ส่วนใหญ่ราคาน้ำมันแพงตลอดปี เพื่อให้มีการประหยัดและคิดค้นเทคโนโลยีใหม่ๆ แต่ถ้าจะคิดแบบอยู่เพื่อปัจจุบันอย่างไทยๆ ก็จะลดราคาน้ำมันลงแบบสุดๆ (จริงๆ ไทยยังไม่สุด) ปริมาณการใช้น้ำมันก็จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเหมือนอย่างปัจจุบันนี้ ใครถูกใครผิดนั้นคงไม่มีคำตอบ แต่รถยนต์ขายดีแน่นอน

 

ส่วนพลังงานจากเทคโนโลยีใหม่ๆ (New Energy) ที่จะนำมาใช้ในรถยนต์แทนน้ำมันนั้น จากวันนี้ไปอีก 10 ปีข้างหน้า ยังน่าจะเป็นรถยนต์ไฮบริด (Hybrid) ระหว่างน้ำมันกับแบตเตอรี่ไฟฟ้า คงจะยังไปไม่ถึงไฮโดรเจนอย่างที่เป็นข่าวครึกโครมซึ่งทำเอาคนไทนฝันไปไกลสุดขอบฟ้า บางท่านถึงกับตั้งโรงงานไฮโดรเจนในบ้านกันเลยทีเดียว

 

4. ก๊าซ : คนไทยคุ้นชินกับการใช้ก๊าซทั้ง LPG และก๊าซธรรมชาติอย่าง LNG และ NGV แต่มักไม่ค่อยใส่ใจหาความรู้จากก๊าซมากนัก จำง่ายๆ ก็คือ LPG ที่เรานำมาใช้ในครัวที่บ้านหรือบางท่านก็นำมาดัดแปลงใส่ในรถยนต์นั้นเป็นก๊าซที่อยู่ในสถานะของเหลวแบบอัดในถังความดันไม่สูง หากรั่วไหลออกสู่ภายนอกมีอันตรายสูง เนื่องจากมีน้ำหนักมากกว่าอากาศ ไม่สามารถลอยขึ้นที่สูงในทันที นอกจากนี้ LPG ยังเป็นวัตถุดิบของปิโตรเคมีสำหรับผลิตเครื่องใช้แทบทุกชนิดในชีวิตประจำวันของเรา รัฐบาลจึงได้ส่งเสริมให้ใช้เป็นเชื้อเพลิงซึ่งแตกต่างกับก๊าซธรรมชาติอย่าง NGV ที่อยู่ในสภาพก๊าซ มีแรงอัดในถังค่อนข้างสูง แต่เวลารั่วไหลจะลอยขึ้นสู่บรรยากาศทันที มีอันตรายน้อยกว่า และเพื่อให้ลดค่าใช้จ่ายด้านการขนส่งจึงมีการแปลงสถานะก๊าซธรรมชาติภายใต้อุณหภูมิติดลบ 160 องศาเซลเซียส ให้เป็นของเหลว ซึ่งเรียกว่า LNG เรื่องราวของก๊าซคงยังไม่จบลงง่ายๆ ท่านใดสนใจลองติดตามดูแล้วกัน

 

5. พลังงานทดแทน : ถ้าจะสรุปสถานการณ์โดยรวมก็ต้องจัดว่าอยู่ในระดับดีพอสมควร ถึงแม้ว่าภาครัฐเองจะมีการออกมาตรการมาบั่นทอนความเชื่อมั่นของนักลงทุนลงไปบ้างก็ตาม อาทิ ตามประกาศของ FiT Premium ต้องมีการประมูลเหมือนโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ ซึ่งคาดว่าวิธีการนี้อาจทำให้ผู้ประกอบการรายเล็กๆ ลดจำนวนลง และที่แย่ไปกว่านั้นธุรกิจพลังงานทดแทนถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการปั่นหุ้น โดยไม่มีการลงทุนจริง รวมทั้งการหลอกขายหุ้นไร้มูลค่านอกตลาดก็ยังมีให้เห็นอยู่

 

เรามาดูสถานการณ์จริงที่ไม่ถูกยกเมฆปั่นหุ้นดีกว่า โดยพิจารณาจากประเภทเชื้อเพลิง ดังนี้

 

1. พลังงานธรรมชาติ ได้แก่ พลังงานเซลล์แสงอาทิตย์และพลังงานลม พอสรุปได้ว่า พลังงานลมอยู่ในช่วงขาลง เนื่องจากมีผู้เสนอขายไฟฟ้าเกินกว่าปริมาณเป้าหมายการรับซื้อ นอกจากนี้ ภาครัฐก็ยังลดอัตราการส่งเสริมลง ส่วนพลังงานแสงอาทิตย์หรือที่เรียกติดปากว่า Solar Cell ก็ยังคงครองใจนักปั่นหุ้นอยู่ดี แม้ว่าอัตราส่งเสริมจะลดต่ำลงเท่าใดก็ตาม แต่ควรจับตามอง Solar Rooftop ซึ่งอาจจะมีการส่งเสริมจริงจังมากกว่านี้ในอนาคต

 

2. พลังงานชีวภาพ ได้แก่ ชีวมวล ก๊าซชีวภาพ และพลังงานขยะ ทั้ง 3 พลังงานยิ่งใหญ่นี้หากดูอัตรา FiT Premium น่าจะไปได้ดีกว่าเดิม แต่ถ้ามีการประมูลจะทำให้ได้รับความสนใจจากนักลงทุนลดลง เนื่องจากความยุ่งยากและอาจไม่เป็นธรรม รวมทั้งการวางแผนพัฒนาโครงการล่วงหน้าทำได้ยาก แม้แต่พลังงานจากขยะซึ่งได้ทั้งไฟฟ้า ได้ทั้งลดของเสีย นักลงทุนก็ยังมีคำถามมากมายว่าจะประมูลอย่างไรในเมื่อต้องผ่านการประกวดราคามาจากท้องถิ่นผู้รับผิดชอบขยะแล้วรอบหนึ่ง

 

3. เชื้อเพลิงชีวภาพ ได้แก่ เอทานอล และ ไบโอดีเซล ซึ่งดูจะมีอนาคตแบบไม่หวือหวา ไปเงียบๆ แต่ก็มีกำไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วยให้ชาวไร่มีรายได้ดีไปด้วย นี่แหละสุดยอดของเกษตรพลังงาน

 

ยังมีเรื่องราวที่น่าสนใจของพลังงานทดแทนในบ้านเมืองเราอีกมาก และไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไปแล้ว ไม่ว่าท่านจะยากดีมีจนเพียงใดต้องใส่ใจเรื่องพลังงาน เริ่มต้นด้วยการประหยัดพลังงานก่อน แล้วถามตัวเองว่า วันนี้คุณใช้พลังงานทดแทนแล้วหรือยัง